ขยะพลาสติกภัยร้ายอนาคต พร้อมโรคภัยรูปแบบใหม่

นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นใจแง่ของสภาพสังคม ความเป็นอยู่ แต่ในแง่ของทรัพยากรได้รับความเสียหายมากมาย จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ล่าสุดนักวิจัยนานาชาติ กำลังเร่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแนวปะการังทั่วโลกกว่า 120,000 แห่ง จาก 159 พื้นที่ เพื่อทำการศึกษาสภาพมลภาวะและตรวจสอบสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งและแนวปะการังของประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เมียนมา และประเทศไทย เนื่องด้วยประเทศดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ความเสี่ยงดังกล่าวนักวิจัยเปิดเผยว่ามาจาก “ขยะพลาสติก” ที่ถูกทิ้งอย่างไร้จิตสำนึก อันจะส่งผลให้ปะการังเกิดโรคและเพิ่มโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียปะการังตามแนวชายฝั่งมากจาก 4 เป็น 89% และยังกล่าวอีกว่า จากการประเมิน จำนวนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหรือ ราว 11,100 ตัน ตามแนวชายฝั่งเอเชียแปซิฟิกที่มีปะการังอาศัยอยู่ หรือปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40 % ภายใน 7 ปี่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่า หากอนาคตยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ปะการังจะถูกทำลายจนในที่สุดอาจจะไม่มีเหลือให้ได้ชมกันอีกก็เป็นได้

ที่ผ่านมาประเทศที่มีชายฝั่งติดทะเลสามารถทำเงินเข้าประเทศได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี จากการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบและรวมไปถึงการท่องเที่ยวชมปะการังด้วย ทั้งนี้หากปัญหาขยะพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศจะลดลงจากการสูญเสียทรัพยากรชายฝั่งไป

ขณะเดียวกันการประชุมชนดาวอส ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในที่ประชุม เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ระบุถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากโรคภัยไข้เจ็บรูปแบบใหม่ และแสดงความเป็นห่วงถึงการรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บชนิดใหม่ต่าง ๆ เช่น ภัยระบาดของเชื้ออีโบลา เชื้อไข้ซิกา โรคซาร์ส และโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจก่อความเสียหายรุนแรงให้กับชาวโลกได้ ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้เมื่อ 100 ปีก่อน และเชื้อโรคเหล่านี้อาจจะสามารถวิวัฒนาการตัวเองให้รุนแรง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น เพิ่มความน่ากลัวขึ้นไปอีกได้ ที่ประชุมจึงได้ฝากเตือนให้เตรียมป้องกันและรับมือไว้ให้พร้อม เมื่อวันนั้นมาถึงจะได้มีแนวทางรับมือกับปัญหาได้

สังเกตว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงไปมากมาย มีหลายแง่มุม ทั้งในแงที่ดีขึ้น และแง่ที่ที่ไม่สู้ดีนัก แต่คำถามที่ทั่วโลกต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองคือ เรามีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกหรือไม่ และเราเปลี่ยนแปลงโลกไปในทิศทางไหน ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว และเราก็รับรู้ได้

สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เกิดจากฝีมือของมนุษย์โลกทั้งสิ้น และก็เป็นการแน่นอนว่าหากการกระทำเหล่านี้ส่งผลเมื่อไหร่ คนที่รับกรรมคงต้องเป็นมนุษย์โลกเองเช่นกัน