“โลกร้อน” เป็นปัญหาของมวลมนุษยชาติ ชิคาโก ร้อนแท้ ไม่แพ้ไทย

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่อากาศร้อนมากที่สุดในฤดูร้อน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีค่าความร้อนและอัตราการปล่อยสารพิษสู่ชั้นบรรยากาศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สาเหตุหลักที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองมลพิษก็มาจากความร้อนที่ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ยิ่งร้อนมากผู้คนก็ยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศมาก รวมไปถึงความหนาแน่นของการจราจรและผู้ใช้รถใช้ถนน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์สู่ชั้นบรรยากาศ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อากาศร้อนขึ้น

ไม่ใช่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับอากาศร้อนขึ้นทุกปี แต่หลาย ๆ ประเทศก็ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเช่นกัน รายงานล่าสุดจากเว็บไซต์ชิคาโก ซัน ไทมส์ ระบุว่าฤดูร้อนปีนี้เป็นปีที่อุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 5 ปีของเมืองชิคาโก โดยอุณหภูมิในบ่ายวันเสาร์ช่วยปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาได้พุ่งสูงถึง 32 องศาเซลเซียส ทำให้ชาวเมืองชิคาโกนั้นหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์ นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยาของเมืองชิคาโกยังระบุอีกว่า อุณหภูมิมีโอกาสสูงขึ้นถึง 34 องศาเซลเซียสในอีก 2 วันข้างหน้า

“ร้อนจนคนต้องตาย”

อากาศร้อนสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายอย่าง โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น นั่นคือโรคลมแดด (Heat Stroke) มีอันตรายอย่างมาก อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากการทำงานผิดปกติของสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด อาจมีอาการอื่นแทรกซ้อนเช่น ภาวะขาดเหงื่อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

โดยในปี 2559 ได้มีสถิติผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนมากที่สุดถึง 34 คน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคลมแดด ได้แก่ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ช่างก่อสร้าง เกษตรกร นักกีฬา ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากสภาพร่างกายที่พร้อม ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง  คนที่ดื่มสุราจัด และคนที่นอนน้อย

ผลกระทบจากระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ประชากรโลกตื่นตัว แต่การรณรงค์ลดโลกร้อนที่มีการเคลื่อนไหวมาหลายปีนั้น ดูเหมือนจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจ ความตระหนักในใจที่ถูกสร้างต่อประชากรโลก ว่าความร้อนของโลกที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากฝีมือของทุกคน แต่มีเพียงคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เชื่อว่ายังมีคนอีกมากมายที่ใช้ชีวิตเหมือนเดิม และคิดว่าการกระทำของตนส่งผลกระทบต่อโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น น่าเสียดายที่มีคนจำนวนมากคิดเหมือนกัน ทำให้สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อยถูกสะสมเรื่อย ๆ จนสามารถส่งผลกระทบต่อธรรมชาติในวงกว้าง